วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

ทำอย่างไร เมื่อต้องผ่าตัด

ทำอย่างไร เมื่อต้องผ่าตัด


null


คุณจะต้องรับการผ่าตัด…ประโยคนี้ ใครได้ยินคงจะเสียวสันหลัง แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ถ้าเรารู้จักดูแลตนเองทั้งก่อนและหลังเข้ารับการผ่าตัด สุขภาพร่างกายของผู้ป่วยจะสามารถฟื้นฟูได้อย่างรวด

เมื่อผู้ป่วยได้รับคำแนะนำจากแพทย์ว่า ควรจะได้รับการผ่าตัด ย่อมจะรู้สึกอึดอัด แม้ผู้ป่วยจะมีความลำบากจากอาการของโรคที่เป็นอยู่มากก็ตาม ส่วนใหญ่พบว่า เกิดจากความไม่รู้ว่า จะต้องเตรียมตัวอย่างไร สิ่งที่จะพบในห้องผ่าตัดมีอะไรบ้าง การปฏิบัติตัวหลังจากกลับมาจากการทำผ่าตัดและความวิตกกังวลจากผลของการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะอธิบายให้ผู้ป่วยฟังก่อนที่จะทำการผ่าตัดพอสังเขป

เมื่อเข้าห้องผ่าตัดก็ยังรู้สึกใจคอหวาดหวั่นอยู่ดี เพราะผู้อยู่แวดล้อมในห้องผ่าตัด ที่มีทั้งแพทย์ผ่าตัดถึงจะเป็นคนที่เคยคุ้นหน้าตาแต่เจอในสภาพแวดล้อมใหม่ เครื่องมืออุปกรณ์ที่หน้าตาแปลกไป วิสัญญีแพทย์และบรรดาพยาบาลในห้องผ่าตัดซึ่งอาจเป็นคนใหม่ที่ไม่คุ้นหน้ากันมาก่อน รวมถึงขั้นตอน วิธีการดำเนินการผ่าตัดซึ่งถึงแม้แพทย์จะอธิบายแต่ยังไม่เห็นภาพ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลการรักษา ทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ผู้ป่วยเกิดความไม่มั่นใจ ดังนั้น พยาบาลจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมพลังให้ผู้ป่วยลดความวิตกกังวลและเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดได้อย่างมั่นใจ ปฏิบัติตัวเมื่อกลับมาจากห้องผ่าตัดได้อย่างถูกต้องเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนหรือภาวะไม่พึงประสงค์
ตัดสินใจก่อนยอมลงมีด

  • ผู้ป่วยมักจะได้รับคำอธิบายจากแพทย์ว่า แพทย์สามารถรู้แล้วว่าเป็นโรคอะไร รู้วิธีและเป้าหมายการผ่าตัดที่ชัดเจน บางครั้งก็ยังไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไรแน่ มีความเป็นไปได้หลายอย่าง มีบางอย่างที่จำเป็นต้องผ่าตัดและรุนแรง ซึ่งถ้าไม่รีบการแก้ไขแล้วจะเป็นอันตราย เช่น สงสัยว่า จะมีลำไส้อุดตันต้องผ่าด้วยเหตุผลเพื่อการวินิจฉัย หรือมีไส้ติ่งอักเสบ ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เป็นต้น ถ้าหากว่า ไม่ได้อยู่ในสถาณการณ์ที่เป็นการรีบด่วนนัก ท่านควรจะได้ถามแพทย์ว่า ถ้าผ่าตัดแพทย์จะทำอะไร ทำแล้วผลที่คาดหวังจะเป็นอย่างไร มีการรักษาวิธีอื่นหรือไม่ ที่จะให้เลือก มีข้อดีข้อเสียอย่างไร แล้วท่านจึงเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะรับการผ่าตัดหรือรักษาวิธีอื่น

เตรียมตัวก่อนผ่าตัด

ก่อนผ่าตัดศัลยแพทย์จะอธิบายกับผู้ป่วยว่า จะผ่าตัดด้วยจุดมุ่งหมายอะไร ผ่าตัดอย่างไร ที่ไหน วิธีให้ยาระงับความรู้สึกหรือยาสลบอย่างไร และการผ่าตัดเป็นแบบผู้ป่วยนอก หรือต้องนอนโรงพยาบาล ซึ่งสิ่งที่ควรจะเตรียมตัวก่อนผ่าตัดดังนี้คือ

  • การลงนามยินยอมรับการรักษา ผู้ป่วยทุกคนที่เข้ามารับการรักษาต้องยินยอมให้ทำการรักษา การเซ็นการยินยอมเป็นเอกสารทางกฎหมายที่ยืนยันได้ว่า ผู้ป่วยได้รับการบอกกล่าวและเข้าใจทุกอย่างที่จะรับการรักษา หรือการสอดใส่อุปกรณ์บางอย่างเข้าไปตัวของผู้ป่วย รวมถึงการได้รับเลือดและส่วนประกอบของเลือดอีกด้วย ก่อนที่ผู้ป่วยจะเซ็นใบยินยอม ควรมั่นใจว่า เข้าใจทุกขั้นตอนของการผ่าตัด วิธีให้ยาระงับความรู้สึก อัตราเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นทั้งระหว่างและหลังการผ่าตัด ภาวะเสี่ยงต่อความพิการหรือการเสียชีวิต ส่วนของร่างกายที่ถูกตัดออก ปกติผู้ป่วยควรเป็นผู้ลงนามในใบยินยอมรับการรักษาด้วยตนเอง เว้น แต่อยู่ในภาวะไม่รู้สติ หรืออยู่ในภาวะที่กฎหมายไม่อนุญาต เช่น สติวิปลาส และอายุไม่ครบเกณฑ์ 18 ปี
  • การให้ประวัติความเจ็บป่วย การรักษาและการใช้ยา หรือสิ่งเสพติดอื่นๆ เช่น

  • ต้องบอกกับแพทย์ว่าเป็นโรคอะไรที่กำลังรับการรักษาอยู่ รับประทานยาอะไรเป็นประจำหรือเปล่า เช่น เป็นหืด เป็นเบาหวาน เป็นโรคเลือดออกง่าย มีจ้ำเลือดตามร่างกาย กำลังรักษาอยู่ด้วยยาอะไรบ้าง หรือนำยามาให้แพทย์/พยาบาล ถามแพทย์ว่าควรใช้ยาต่อหรือทำอย่างไร โดยเฉพาะท่านที่ใช้ยาที่มีส่วนผสมของสารต้านการแข็งตัวของเลือด หรือรับประทานสมุนไพรอะไรอยู่บ้าง ท่านเคยแพ้ยาอะไรบ้าง แพ้แล้วมีอาการอย่างไร
  • เคยผ่าตัดมาก่อนหรือไม่ ถ้าเคย เคยผ่าตัดอะไร ใช้ยาชาหรือดมยาสลบ มีผลแทรกซ้อนอะไรบ้างเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับวิสัญญีแพทย์ในการใช้วิธีการระงับความรู้สึก
  • ถ้าเคยดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ ก็ควรจะงดเว้นก่อนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน หรือตามคำสั่งการรักษาของแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องใช้วิธีดมยาสลบ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากปอดทำงานไม่ดีซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะปอดอักเสบจากการสูดสำลัก (aspiration pneumonia) หรือ ไอมากหลังผ่าตัดซึ่งจะส่งผลให้เกิดแผลแยกในผู้ป่วยที่มีการทำผ่าตัดทางหน้าท้อง
  • ควรจะปล่อยวางเรื่องงานบางอย่างให้ลดลงช่วงก่อนและหลังผ่าตัด รักษาสุขภาพทั้งเรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลังกายและการพักผ่อนตามสมควร รวมทั้งการรับประทานยาบำรุงร่างกาย เช่นยาบำรุงเลือดที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ
  • ถ้าเป็นการผ่าตัดใหญ่และอาจต้องเสียเลือด ไม่รีบด่วนนัก ก็ควรจะให้เลือดของตัวเองเตรียมไว้ก่อน เผื่อจำเป็นต้องได้รับเลือดทดแทนที่เสียไปจากการผ่าตัด
  • ระหว่างวันใกล้ผ่าตัดหรือก่อนการทำผ่าตัด ถ้าไม่สบายด้วยเรื่องอะไรแม้เพียงเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด มีผื่นคัน ฯลฯ ควรบอกกับแพทย์

null


วันก่อนผ่าตัดก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้ารับการผ่าตัด จะมีการนัดหมายมาจากโรงพยาบาล ซึ่งอาจเป็นภายในวันเดียวกันหรือวันก่อนหน้าวันผ่าตัด ซึ่งคุณจะต้องเตรียมตัว ดังนี้

  • ควรทำความสะอาดผิวหนังและร่างกายในคืนก่อนทำผ่าตัด เนื่องจากบริเวณที่จะทำผ่าตัดต้องสะอาด ควรทำความสะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดเพื่อลดจำนวนแบคทีเรียที่ผิวหนัง อาจมีบางการผ่าตัดที่แพทย์มีคำสั่งการรักษาให้โกนขนบริเวณที่จะทำผ่าตัด
  • ควรงดดื่มน้ำและรับประทานอาหารทุกชนิด ก่อนเวลาผ่าตัดประมาณ 6-8 ช.ม. (ถ้าเผอิญคุณดื่มหรือรับประทานอาหารอะไรระหว่างช่วงเวลานี้อย่าลืมบอกแพทย์-พยาบาลด้วย) หากมียาที่จำเป็นต้องรับประทานในเช้าวันผ่าตัด เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรรับประทานยาและน้ำปริมาณเพียงเล็กน้อย เพื่อช่วยลดอาการอาเจียน หรือการสำลักอาเจียนเข้าไปในทางเดินหายใจ ลดอัตราเสี่ยงจากลำไส้อุดตัน ในรายที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้อง จะทำให้ศัลยแพทย์มองเห็นส่วนต่างๆของลำไส้ขณะที่ทำผ่าตัด และป้องกันการปนเปื้อนของอุจาระในลำไส้ระหว่างที่ทำผ่าตัด
  • ในกรณีที่มีการทำผ่าตัดเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร รอบๆทวารหนักและอุ้งเชิงกรานอาจจะได้รับยาระบาย หรือสวนอุจจาระก่อนการทำผ่าตัด
  • คุณอาจจะได้รับการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซ์เรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • ไม่ควรนำของมีค่า เช่น เครื่องประดับ หรือเงินจำนวนมากติดตัวไป เนื่องจากอาจเกิดการสูญหาย ให้นำเฉพาะของใช้ส่วนตัวจริง ๆ หรืออาจให้ญาตินำมาให้ภายหลัง
  • หากท่านมีฟันปลอม หรือมีฟันผุ ฟันโยกควรแจ้งให้ศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์หรือพยาบาลทราบก่อนผ่าตัดเนื่องจากอาจเกิดฟันหลุดร่วงลงไปในลำคอระหว่างการใส่ท่อช่วยหายใจในรายที่มีการให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป

วันที่ผ่าตัด

ในวันผ่าตัด ผู้ป่วยจำเป็นต้องเตรียมใจกับหลายอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่คุณก็สามารถตั้งรับได้ด้วยการเตรียมพร้อม

ที่หอผู้ป่วย

  • ท่านอาจได้รับน้ำเกลือเข้าเส้นเลือด และการคาสายสวนปัสสาวะตั้งแต่ที่หอผู้ป่วย หรือได้รับน้ำเกลือและคาสายสวนปัสสาวะที่ห้องผ่าตัด

ที่ห้องผ่าตัด

  • วิธีการให้ยาระงับความรู้สึก การใช้วิธีไม่ให้คนไข้ปวดมีหลายวิธีที่แพทย์จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมแล้วแต่อวัยวะที่จะผ่าตัด เช่น ผ่าตัดเล็กน้อย เช่น ผ่าฝีที่ผิวหนัง, ผ่าถุงน้ำที่ผิวหนัง ก็ใช้แค่ยาชาฉีดเฉพาะที่จะผ่าตัด
    แต่ถ้าเป็นการผ่าตัดใหญ่ เช่น กระดูกแขน ขาหัก ก็จะต้อง block เส้นประสาทด้วยยาชาให้มีส่วนที่ชาเป็นพื้นที่กว้าง ถ้าผ่าตัดเกี่ยวกับช่องท้อง ศีรษะ หรือหลาย ๆ อวัยวะในคราวเดียวกัน ก็ใช้วิธีดมยาสลบ การ block หลังก็เป็นการใช้ยาชาเฉพาะส่วนอย่างหนึ่ง เพื่อให้ส่วนล่างของร่างกายไม่รู้สึกเจ็บ เช่น การผ่าตัดไส้ติ่ง
  • เครื่องมือและอุปกรณ์ ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป คุณจะได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจผ่านทางปาก โดยฉีดยานำสลบและยาคลายกล้ามเนื้อ จากนั้นวิสัญญีแพทย์จะสอดท่อช่วยหายใจเข้าทางปากเพื่อใส่ลงไปในหลอดลม และเมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้น วิสัญญีแพทย์จะถอดท่อช่วยหายใจออก ซึ่งท่อช่วยหายใจและยาคลายกล้ามเนื้อจะส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บคอ หรือระคายคอ มีเสมหะ ภายหลังจากการผ่าตัด

หลังจากที่คุณหมอผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยควรจะดูแลตนเองอย่างไร เอาเป็นว่า คงต้องติดตามกัันต่อในตอนจบของ “ทำอย่างไร เมื่อต้องผ่าตัด” ที่จะทำให้คุณฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

null


ลิขสิทธิ์บทความของ e-magazine.info

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น